แคว้นตามพรลิงค์

แคว้นตามพรลิงค์

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง



        อาณาจักรตามพรลิงค์ (สันสกฤต: ตามฺพฺรลิงฺค; ताम्ब्रलिङ्ग) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น อาณาจักรนครศรีธรรมราช นั้น เป็นอาณาจักรโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน (อาจจะเป็นบริเวณบ้านท่าเรือ หรือบ้านพระเวียง) อยู่ทางด้านเหนือของอาณาจักรลังกาสุกะ (บริเวณปัตตานี) มีอาณาเขตทางตะวันออก และตะวันตกจรดทะเลอันดามันถึงบริเวณที่เรียกว่าทะเลนอก ซึ่งเป็นบริเวณจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน คำว่า "ตามพ" เป็นภาษาบาลี แปลว่า ทองแดง ส่วน "ลิงค์" เป็นเครื่องหมายบอกเพศ เขียนเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า Tambalinga หรือ Tanmaling หรือ Tamballinggam จีนเรียก ตันเหมยหลิง หรือโพ-ลิง หรือโฮลิง (แปลว่าหัวแดง) บางทีเรียกว่า เชียะโท้ว (แปลว่าดินแดง) อาณาจักรตามพรลิงค์ มีกษัตริย์สำคัญคือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช

 อณาเขต

        ในยุคแรก ๆ อาณาจักรตามพรลิงค์มีอาณาเขตตั้งแต่อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ลงไปถึงอำเภอเชียรใหญ่ และลึกเข้าไปภายในแผ่นดินถึงอำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสะกา อำเภอทุ่งสง ทั้งหมดอยู่ในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ ในคาบสมุทรมลายู

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรตามพรลิงค์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักรนครศรีธรรมราช สามารถรวบรวมบรรดาแว่นแคว้นน้อยใหญ่ในภาคใต้และคาบสมุทรมลายูได้ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็เสื่อมลง และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในที่สุด (ข้อน่าคิด : ในประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ไม่เคยยอมรับอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยแม้แต่น้อย เป็นเพียงความสัมพันธไมตรีอันดีทางด้านพระพุทธศาสนาที่อาณาจักรนครศรีธรรมราช เผยแพร่ไปให้อาณาจักสุโขทัยเท่านั้น ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ระบุขอบเขตอาณาจักรสุโขทัยเสียจนใหญ่โตเกินความจริง ซึ่งมีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอื่นๆ ไปทั้งคาบสมุทรอินโดจีนที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากอาณาจักรใหญ่ที่อยู่รายรอบสุโขทัย ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของสุโขทัยทั้งสิ้น)

ศาสนา
   จากหลักฐานด้านเอกสารและหลักฐานทางด้านโบราณคดี พบว่าอาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช มีผู้นับถือศาสนาด้วยกัน ๒ ศาสนา คือ

๑. ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู โดยเฉพาะลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด) ดังได้พบร่องรอยเทวสถาน แท่งศิวลึงค์ และแท่นฐานรองรับเป็นจำนวนมาก กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูลัทธิไศวนิกายได้รับการนับถือในอาณาจักรตามพรลิงค์ในระยะแรก ๆ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูลัทธิไวษณพนิกายด้วย

๒. พระพุทธศาสนา นับถือทั้งนิกายหินยานหรือเถรวาท นิกายมหายาน และ
ลัทธิลังกาวงศ์ ในแต่ละช่วงเวลา คือ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนับถือกันมากประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระพุทธศาสนานิกายมหายานหรืออาจริยวาทนับถือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ส่วนนิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์นับถือหลังจากติดต่อกับลังกาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Comments